อภิสิทธิ์ห่วงเสรีภาพคนสื่อ เตรียมเสนอกม.คุ้มครองฯ เผยตนตั้งใจจะหารือกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนว่าจะช่วยกันทำ ให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร พร้อมเสนออยากให้หนังสือพิมพ์ทำข่าวเชิงประเด็นมากกว่าเน้นตัวบุคคล
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ ในการสัมมนาหัวข้อ “ข่าวการเมืองในอนาคต”จัดโดยสถาบันอิศรา ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า เรื่องแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ ปัญหาเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชน และอนาคตของกฎหมายที่ใช้ในการจัดสรรและกำกับดูแลคลื่นความถี่ แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้น คือ การคุ้มครองคนทำงานในสื่อมวลชน เพราะเคยมีตัวอย่างของการแทรกแซงการทำงานของคนทำสื่อ โดยเฉพาะกรณีสื่อภาครัฐจะชัดเจนมาก เพราะมีการโยกย้ายคนทำงานให้เห็นตลอดเวลา ส่วนสื่อเอกชน ก็มีเสียงที่สะท้อนออกมาว่า มีการแทรกแซงโดยนักการเมืองในรูปแบบต่างๆ เช่นเดียวกัน จึงเห็นว่าควรมีกฎหมายคุ้มครองวิชาชีพสื่อเพื่อให้คุ้มครองการทำงานของคนทำสื่อที่อยู่ภายใต้กรอบจริยธรรมอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ตนตั้งใจจะหารือกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนว่าจะช่วยกันทำให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร
หน.พรรคประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศจะได้รับข่าวสารจากวิทยุและโทรทัศน์มาก และมีอิทธิพลมากกว่าสื่อหนังสือพิมพ์มากมายมหาศาล แต่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา จึงอยากเห็นข่าวการเมืองที่มีสาระ เป็นเหตุเป็นผลในหนังสือพิมพ์ อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของสื่อสิ่งพิมพ์เป็นการเกิดขึ้นโดยอ้อมเมื่อมีการนำข่าวจากหนังสือพิมพ์ไปอ่านในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเชื่อว่าในอนาคต คนรุ่นใหม่จะอ่านข่าวจากอินเทอร์เน็ตมากขึ้น กว่าสื่อดั้งเดิม ที่อาจต้องปรับตัวเป็นสื่อเฉพาะทางมากขึ้น ส่วนข่าวการเมืองในอนาคต ตนอยากเห็นหนังสือพิมพ์ทำข่าวเชิงประเด็นมากกว่าเน้นตัวบุคคล เพื่อให้เกิดความสั้นกระชับ จะช่วยเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนมากขึ้น
นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ในกรณีของข่าวโทรทัศน์ที่น่าเป็นห่วงคือ ขณะนี้มีรายการคุยข่าวมากกว่าเน้นการเสนอข่าว และไปเน้นที่ตัวพิธีกร ตนยังหวังที่จะเห็นข่าววิทยุและโทรทัศน์เป็นแหล่งอ้างอิงทางความรู้ของประชาชน นอกจากนี้ ยังรู้สึกว่ารายการเชิงสาระที่เปิดโอกาสให้มีการถกเถียงกันมีน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ถือเป็นการสูญเสียเวทีในการสร้างความตื่นตัวทางสังคมให้กับประชาชน นอกจากนี้ ยังอยากเห็นข่าวการเมืองในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่ทำให้ประชาชนตื่นตัว มีความหลากหลาย และเป็นแหล่งข้อมูลในการตัดสินใจของประชาชน
02 กันยายน 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น