15 กันยายน 2551

วุฒิสภา นัดถกงบปี 52 16 ก.ย.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในวันที่ 16 ก.ย.นี้ จะมีการประชุมวุฒิสภานัดพิเศษเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2552 วงเงิน 1,835,000,000,000 บาท ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว โดยวุฒิสภาต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคสาม บัญญัติ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2552 วุฒิสภา ได้รายงานตั้งข้อสังเกตในการจัดสรรงบประมาณไว้ 3 ส่วน คือ 1.นโยบายและการบริหารจัดการงบประมาณปี 2552 ว่า จากสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่อาจมีการชะลอตัวการขายตัวทางเศรษฐกิจ และระดับเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลต้องพึงระวัง และควรมีมาตรการเตรียมความพร้อมในกรณีที่ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมาย 2.ประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายเชิงบูรณาการได้แก่ การกำหนดยุทธศาสตร์และกระบวนการในการพัฒนาคนไทยและสังคมไทยโดยมุ่งเน้นที่เด็กและเยาวชนเป็นวาระแห่งชาติ การจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การกำหนดนโยบายและทิศทางการวิจัยของประเทศ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ และ 3.การจัดสรรงบประมาณตามภารกิจของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ รายงานข่าวแจ้งว่า เบื้องต้น ส.ว.เลือกตั้งและ ส.ว.สรรหาส่วนหนึ่ง เห็นว่ามีแนวทางดำเนินการ 2 ทางคือ อาจจะเสนอให้ที่ประชุมวุฒิสภาเลื่อนการพิจารณา หรืออาจไม่เห็นชอบในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่เห็นควรดำเนินการในทางแรกมากกว่า เพราะเห็นว่ารัฐบาลที่จัดทำงบประมาณได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว จึงควรรอรัฐบาลใหม่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อน รวมถึงการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภา มีปัญหาในเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในส่วนการปรับเพิ่ม 4.5 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะ ในส่วนงบ 1.6 หมื่นล้านบาท ที่เป็นเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นเมื่การดำเนินการของสภาไม่ถูกต้อง ส.ว.จะเป็นตรายางให้ผ่านไปไม่ได้ เพราะจะถือว่าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ จึงจะดำเนินการคัดค้านอย่างเต็มที่ ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนจะเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาให้ชะลอการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯไว้ก่อน เพื่อให้รัฐบาลใหม่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และนำร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไปปรับปรุงตามนโยบายรัฐบาลใหม่ก่อน ซึ่งวุฒิสภายังมีเวลาพิจารณาถึงวันที่ 26 ก.ย. อีกทั้งขณะนี้ปัจจัยทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปมาก จีดีพีตอนนี้อยู่ที่ร้อยละ 4.5 ไม่ใช่ 5.5 ตามที่ประมาณการไว้ในตอนแรก และอัตราเงินเฟ้อก็เปลี่ยนไป รวมถึงการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผ่านมา ก็กระทบต่อสถานะเศรษฐกิจอย่างมาก การประมาณการรายรับจึงอาจเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้นตามหลักการมันควรรอรัฐบาลใหม่มาปรับปรุงก่อน เพื่อป้องกันรัฐบาลใหม่ปัดความรับผิดชอบ โดยอ้างว่างบตัวนี้ตั้งโดยรัฐบาลที่แล้ว และมาตรา 166 ยังระบุว่า หากออกพ.ร.บ.งบประมาณใหม่ไม่ทัน ก็ให้ใช้กฎหมายงบประมาณเก่านั้นไปก่อน ฉะนั้นจึงไม่น่ามีปัญหา นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กระบวนการพิจารณางบประมาณของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร อาจขัดรัฐธรรมนูญ เพราะมีการแปรญัตติลงพื้นที่ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคห้า กำหนดให้ปรับลดได้เท่านั้นและทำรายการเพิ่มไม่ได้ ถ้าจะทำเพิ่มต้องให้ครม.ทำเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมเข้ามา ส่วนวรรคหกก็ห้ามส.ส.หรือกรรมาธิการแปรญัตติที่มีส่วนโดยตรงหรือโดยอ้อม จึงมีประเด็นในส่วนที่คณะกรรมาธิการของสภาปรับเพิ่ม 4.5 หมื่นล้าน จุดนี้จึงสามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ตามที่มาตรา 168 วรรคเจ็ดบัญญัติ แต่ตนจะรอดูก่อนว่า ส.ว.จะชะลอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาปรับปรุงร่างแล้วเสนอเข้าสภามาอีกครั้งหรือไม่ค่อยดำเนินการ ขณะที่นาย สมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การพิจารณาคงจะเป็นไปตามที่กำหนดไว้ และให้อภิปรายไปตามธรรมชาติ เพื่อที่จะให้รัฐมนตรีตอบข้อซักถาม ทั้งนี้ขณะนี้มีส.ว.แสดงความจำนงในการอภิปราย 74 คน ดังนั้น การประชุมในวันที่ 16 ก.ย. อาจได้แค่ครึ่งหนึ่ง และอาจพิจารณาต่อในวันที่ 19 ก.ย. แล้วจึงมีการลงมติในวันดังกล่าว ส่วนที่มีส.ว.จะเสนอให้ชะลอการพิจารณาออกไปก่อน ก็เป็นความคิดของส.ว.ส่วนหนึ่ง เพราะรัฐบาลคงเป็น 6 พรรคเหมือนเดิมไม่ได้มีการเปลี่ยนขั้ว และอาจมีการตั้งรัฐมนตรีคนเดิมกลับเข้ามาทำหน้าที่.

credit : daily news online
www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น: