วันนี้ (3 ก.ย.) ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พิพากษาจำคุกนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี เป็นเวลา 35 ปี และปรับเป็นเงิน 4 พันล้านบาทเศษ
ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์และเบียดบังทรัพย์ กรณีที่อนุมัติสินเชื่อให้กับบริษัท ซัพพอร์ตซิสเต็มส์ จำกัด โดยมิชอบ และฝ่าฝืนคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญบัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยศาลมีคำสั่งปรับนายจิตตสร ปราโมช ณ อยุธยา ในฐานกรรมการบริหารบริษัทซัพพอร์ตฯ ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วย เป็นเงิน 6 ล้านบาท รวมทั้งให้จุกคุกนายรังสรรค์ปิยะวงซ์ภิญโญ จำเลยที่ 4 เป็นเวลา 12 ปี แต่ศาลเห็นควรลดโทษให้นายรังสรรค์ 1 ใน 4 คงจำคุกเป็นเวลา 9 ปี ส่วนนายเอกชัย อธิคมนันทะ อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการฯ จำเลยที่ 2 ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลยังมีคำสั่งให้นายเกริกเกียรติ และบริษัทซัพพอร์ตฯร่วมกันคืนเงิน 2 พันล้านบาทเศษ ให้กับธนาคารกรุงเทพพาณิชยการฯ ซึ่งได้ความเสียหายจากการอนุมัติสินเชื่อ ภายหลังศาลมีคำพิพากษา นายเกริกเกียรติได้ยื่นหลักทรัพย์เพื่อประกันตัวจำนวน 4 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีฉ้อโกงและยักยอก ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ หรือ บีบีซี ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ของไทย เพราะนอกจากคดีเกี่ยวข้องกับเม็ดเงินที่มูลค่าสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาทแล้ว มีผู้เข้าไปเกี่ยวข้องมากมาย ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร นักการเมือง และนายราเกซ สักเสนา อาชญากรทางการเงินคนสำคัญ
โดยคดีบีบีซี เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2539 ปีเดียวกับที่ บีบีซีถูกกระทรวงการคลังเข้ายึดกิจการก่อนปิดกิจการในที่สุด โดยมีผู้ต้องหาสำคัญ 2 คน
คือ เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการบีบีซี และนายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษาของเกริกเกียรติ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวโทษอดีตผู้บริหารบีบีซี ว่ากระทำผิดตามกฎหมาย ธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และ กฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ตามข้อกล่าวหา ฉ้อโกง และ ยักยอก ในรูปคดีเดิมอัยการสั่งฟ้อง เกริกเกียรติ ราเกซ และพวกรวมทั้งสิ้น 24 คดี แต่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล ๆได้รวบคดีที่มีความเกี่ยวเนื่องกันเหลือเพียง 17 คดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น